วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ศาสนาบันทึกและตรรกะของข้าพเจ้า

ยามดึกดื่นใน
ช่วงท้ายของเดือนรอมฏอน 2012

ผลจากการนั่งอ่านหนังสือเล่มหนึ่งนี่คือก้อนความคิดบางส่วนที่ผุดขึ้นในกระแสความคิดของข้าพเจ้า
  • อิทธิพลของศาสนาต่อกระบวนทรรศน์และความคิด
  • ความศรัทธาที่ถูกปลูกฝัง
  • ความรู้สึกผิดอันถูกปลูกฝังโดยศาสนา ตัวอย่างเช่น การขี้เกียจอ่านกุรอ่านในเดือนรอมฏอน  ข้าพเจ้าถูกปลูกฝังเรื่องคุณค่าของเดือนรอมฏอนที่ประเสริฐกว่าเดือนอื่นๆ  ในแง่ผลบุญและการทบทวีคูณในหลายๆ ด้าน จึงส่งเสริมให้ทำดีกันให้มากในเดือนนี้ หนึ่งในความดีในแนวทางอิสลามคือการอ่านกรุอ่าน แต่ก็จะมีบางช่วงเวลาที่ข้าพเจ้ารู้สึกขี้เกียจอ่านกรุอ่าน ทำตัวเหลวไหล ซึ่งในช่วงเวลาที่ขี้เกียจนั้นความรู้สึกผิดบางประการก็แทรกเข้ามาอยู่เรื่อยๆ การไม่ตั้งใจอ่านกุรอ่าก็เหมือนเราไม่รู้จักคุณค่าของเดือนนี้  เราจึงรู้สึกผิด เพราะทำยังงัยเราก็ขี้เกียจอ่านอยู่ดี 
  • ในอีกด้านหนึ่งหากข้าพเจ้าขี้เกียจอ่านกรุอ่านในเดือนรอมฏอน แต่ใจข้าพเจ้าไม่รู้สึกผิด ศาสนาก็ระบุว่านั่นคืออาการของคนที่จิตใจตายด้านและด้านชา เพราะถูกปกคลุมด้วยกิจกรรมบาปต่างๆ แรกเริ่มมันเป็นเพียงจุดดำจุดเล็กๆ หากยังคงปฏิบัติมันเรื่อยๆ จุดดำหลายๆ จุดก็จะกินพื้นที่จิตใจด้านดี สุดท้ายจิตใจก็มืดบอด กลายเป็นคนที่ไม่รู้สึกผิดบาปเมื่อกระทำผิด นี่เป็นกระบวนการทางศาสนาที่ครบวงจรใช่หรือไม่?
  • ข้าพเจ้าลองคิดว่าถ้าเราไม่มีความทราบซึ้งกับคำสอนเก่าก่อนถูกปลูกฝังตั้งแต่ต้น ความรู้สึกผิดเหล่านั้นก็จะไม่เกิดขึ้นเลยใช่หรือไม่ เพราะทั้งสองสิ่งนั้นมันเกี่ยวโยงเป็นเหตุและผลที่ร้อยเข้าด้วยกัน 
  • หนึ่งในแท่งความคิดของข้าพเจ้าบอกว่า หากเปรียบเทียบความรู้สึกผิดอันอ้างอิงอยู่กับหลักปฏิบัติทางศาสนาที่ระบุว่า ศาสนิกควรปฏิบัติวัตรบางประการ แต่เรากลับขี้เกียจที่จะปฏิบัติ (อิสลามเรียกว่าความผิดอันมีต่อพระองค์อัลลอฮฺ) กับความรู้สึกผิดในการทำให้ผู้อื่นเดือนร้อน เช่น ฆาตกรรม ลักขโมย ผิดประเวณี มันให้น้ำหนักในความผิดทางความรู้สึกต่างกันตามการสัมผัสของมนุษย์ ก็ในเมื่อความรู้สึกผิดต่อพระองค์อัลลอฮฺมนุษย์เรายังไม่เห็นผลเพราะอัลลอฮฺทรงตรัสว่า ผลของมันคือการชำระล้างในนรก มนุษย์เราจึงได้แต่รู้สึกผิด กลัวแต่ไม่ชัดเจน เท่ากับการที่เราฆ่าคน เห็นเลือด เห็นความทรมานของเพื่อนมนุษย์ แค่นั้นเราก็รู้สึกว่าเราตกนรกแน่ๆ 
  • เขียนไปเขียนมาทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าศาสนาพยายามวางกรอบ และหากเราเดินออกนอกกรอบศาสนาก็มีบทลงโทษ
  • เมื่อกี้นั่งดูละคร ใจนึงก็อยากดู อีกใจนึงก็กังวลว่าเรากำลังทำเรื่องไร้สาระในเดือนรอมฏอน เราฆ่าเวลาโดยเปล่าประโยชน์ จึงเกิดอาการปิดโทรทัศน์ซักพักก็กลับไปเปิดใหม่เพราะอยากดู 
  • หากเราไม่มีหลักศรัทธาชีวิตเราจะง่ายขึ้นและมีความสุขขึ้นหรือไม่? เพราะเราจะได้ไม่รู้สึกผิดกับเรื่องสามัญเล็กๆ น้อยๆ อย่างการดูละคร หรือกินข้าวไม่หมด
  • เพราะอิสลามมีกฏข้อหนึ่งที่ครอบจักรวาลมาก คือ แล้วพระองค์จะทรงสอบสวนกับเวลาที่พวกเราใช้ไป ใช้ไปทำอะไรบ้าง หากใช้ไปในสิ่งที่ไร้ประโยชน์มันก็ผิด  (เพราะมุสลิมจะต้องหลีกห่างความไร้สาระทั้งปวง) อย่างนี้แล้วเราก็จะมีความรู้สึกผิดตลอดเวลา ใครจะไปทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ได้ตลอดเวลา
  • แห่หากถามข้าพเจ้าว่า งั้นควรอยู่ในกรอบของศาสนาหรือไม่? คำตอบคือ ควร เพราะการอยู่นอกกรอบมันก็ไม่ได้มีความสุขมากกว่าการอยู่ในกรอบหรอก คือบางครั้งเราก็อยากจะปล่อย เราเบื่อแล้วเราก็อยากจะกลับเข้าไปอยู่ในกรอบใหม่
  • ข้าพเจ้าทำตัวเยี่ยงอิบราฮิมหรือนี่ เที่ยวตามหาและตั้งคำถามถึงองค์อภิบาล
  • ตัวศาสนาอิสลามแท้จริงมันมีบทบังคับแบบฟันธงจริงหรือเปล่า หรือมันเป็นเพราะผู้ที่เอามาสอนและเผยแพร่มากกว่า ที่สอนแบบออกคำสั่ง เลยทำให้เรารู้สึกว่าอิสลามชอบบังคับจริง

วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ความสุข ปลดล็อกสู่ความมั่งคั่งทางจิต

Happiness Unlocking the Mysteries of Psychological Wealth,

บางประโยคจากหนังสือเล่มนี้ 

  • ความสุขเป็นชื่อที่เรายกให้เป็นเรื่องของความคิดและความรู้สึกเชิงบวกเกี่ยวกับชีวิตของคนๆ หนึ่ง
  • ส่วนประกอบของความมั่งคั่งที่แท้จริงบางส่วน
         ๑ ความพึงพอใจชีวิตและความสุข
         ๒ จิตวิญญานและความหมายของชีวิต
         ๓ ทัศนคติและอารมณ์เชิงบวก
         ๔ ความสัมพันธ์ทางสังคมที่อบอวลด้วยความรัก
         ๕ ทำกิจกรรมและงานที่ผูกพัน
         ๖ คุณค่าและเป้าหมายชีวิตที่พึงจะบรรลุถึง
         ๗ สุขภาพกายและจิตใจ
         ๘ วัตถุปัจจัยพอเพียงที่จำเป็นต่อชีวิต
  • แม้คุณไม่มีเงินพันล้าน แต่คุณรักในชีวิต นั่นเท่ากับคุณได้ทุกสิ่งที่ปราถนา เมื่อคุณมีจิตมั่งคั่ง ก็ไม่ต้องใส่ใจแล้วว่าจะมีเงินแค่พอกินพอใช้...............มันแน่ละหรือ เพราะข้าพเจ้าไม่เคยรักในชีวิตตนเอง และเช่นกันก็มิได้ต้องการเงินพันล้านเช่นเดียวกัน 
  • คนมีจิตมั่งคั่งจะแสดงกิริยาอาการของความสามารถมองเห็นสิ่งดีงามในโลก....อะไร อย่างไร มันทำง่ายนักหรือ
  • ความมั่งคั่งที่แท้จริงเป็นเรื่องเกี่ยวกับทัศนคติภายในตัว พอๆ กับสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว
  • ความสุขเป็นสดมภ์หลักของจิตมั่งคั่ง ส่วนหนึ่งเพราะมันเป็นเงินตราทางอารมณ์ความรู้สึกที่ใช้จับจ่ายให้ได้มาซึ่งเป้าหมายอื่นที่มุ่งมาดปราถนา
  • ในขณะที่เป้าหมายคือการสร้างความสุขนั้นสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือกระบวนการ
  • ความรู้ความเข้าใจว่าจะใช้สอยความสุขให้เป็นประโยชน์จริงๆ ได้อย่างไร มีความสำคัญต่อการเก็บเกี่ยวจิตมั่งคั่งที่แท้จริง
  • ความสุขไม่ใช่อารมณ์ก้าวเข้าสู่เส้นชัยในการแข่งขันของชีวิต เราไม่ควรมองหาความสุขเป็นจุดหมายปลายทางที่พยายามไปให้ถึง แต่เป็นโภชน์ผลที่ได้จากการเดินทาง กุญแจไปสู่จิตมั่งมั่งคือเพื่อเข้าใจความสำคัญของการเดินทางต่อความสุข
  • ไม่ว่าเราจะอยู่กับสภาพชีวิตที่ดีเพียงใด สิ่งที่ไม่ดีก็เกิดขึ้นได้เสมอ นอกจากนี้ แม้จะมีสภาพชีวิตที่ดีแล้ว เรายังจำเป็นต้องหาสิ่งท้าทายใหม่ๆ และเป้าหมายใหม่ๆ มิฉะนั้นเราจะรู้สึกเบื่อได้ ปรับตัวเข้ากับสิ่งที่ดี และจำเป็นต้องขยับไปสู่เป้าหมายใหม่เพื่อจะได้มีความสุขกับชีวิตอย่างเต็มที่
  • การตีความโลกของคนเรามีความสำคัญต่อความสุขพอๆ กับ หรือมากกว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ ในโลกของพวกเรา กระบวนการของการเอาใจใส่บางเหตุการณ์ และตัดเหตุการณ์อื่นๆ ออก การตีความเหตุการณ์ที่คลุมเครือในเชิงบวก แทนที่จะเป็นเชิงลบ และใส่ใจเก็บความทรงจำที่ดีในอดีต แทนที่ความทรงจำเลวร้าย เป็นเรื่องของกระบวนการภายในของการมีความสุข ปราศจากกระบวนการเหล่านี้เป็นเรื่องยากมากที่จะมีความสุขอยู่ได้นาน
  • ความสุขไม่ใช่แค่ปณิธานอันทรงคุณค่า แต่เป็นแหล่งทรัพยากร มันเป็นทุนทรัพย์ทางอารมณ์ที่เราสามารถใช้ในการแสวงหาผลอันพึงพอใจอย่างอื่นๆ 
  • ความเวทนาตนเองทำหน้าที่เป็นดังผ้าห่มที่แต่ละคนใช้ห่อหุ้มตัวให้รู้สึกปลอดภัยอย่างวิปริต
  • หนึ่งในบทเรียนที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับความสุข คือมีระดับที่เหมาะสม หากไปไกลกว่าระดับนั้นก็เป็นอันตราย
  • อาจเป็นเพราะมีสมองขนาดใหญ่ เรารับบาดแผลจากอดีต เราสามารถเล็งเห็นอันตรายมากมายในอนาคต เราจึงมีความเป็นไปได้มากกว่าสำหรับความเครียดเรื้อรัง หรือบางทีไม่ใช่เพราะเราฉลาด แต่เป็นความซับซ้อนของชีวิตทำให้เราตกเป็นเหยื่อความเครียดเรื้อรัง